วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

จิตสาธารณะของผม

        หลายคนคงเข้าใจคำว่า"จิตอาสา"หรือ"จิตสาธารณะ"ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมต้องการมากในตอนนี้ว่าสำคัญมากเพียงไร แต่ไม่รู้ว่าเราจะเริ่มต้นทำอะไรที่ดูเป็นจิตสาธารณะหรือจิตอาสาดี ผมจึงขอนำเสนอการทำจิตอาสารูปแบบหนึ่งซึ่งเป็นวิธีง่ายๆและทำแล้วอิ่มใจด้วย
        ผมกับเพื่อนๆได้มีโอกาสไปทำความสะอาดบริเวณพระอุโบสถวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ซึ่งอยู่ใกล้ๆโรงเรียนของผม การเดินทางก็สะดวก ภายในวัดดูครึ้มไปด้วยต้นไม้ สถาปัตยกรรมสวยงามเรียบง่าย ดูเหมือนหย่อมความสงบเล็กๆท่ามกลางตึกสูงและความวุ่นวาย


                              มองไปทางไหนก็เจอห้าง...ผมชอบรูปนี้นะ(เพื่อนถ่าย555)
         เพื่อนผมก็ไปติดต่อขอทำความสะอาดแล้วก็ได้ไม้กวาดมา พวกเรากวาดกันไปเรื่อยๆ กวาดไปถ่ายรูปไป ผมก็รู้สึกดีที่ได้ทำความสะอาดสถานที่ที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนย่านสยามแสควร์ เศษใบไม้และดอกไม้ที่ร่วงลงมารวมกับเศษขยะที่ถูกทิ้งทำให้เรากวาดขยะได้เป็นกอง(ถึงแม้จะมีคนอื่นมากวาดก่อนแล้ว)















                                              กวาดจนเริ่มไม่มีอะไรจะกวาดแล้วครับ^_^
         เราใช้เวลากวาดกันไม่นานมากเพราะโดยรวมแล้วขยะไม่มากเท่าไหร่ แต่ความรู้สึกที่ดีนั้นสำหรับผมนั้นคิดว่าผมได้รับเต็มที่เลย ในวัดเป็นสถานที่สงบ พอได้มากวาดแล้วก็รู้สึกลืมเรื่องแย่ๆได้ชั่วขณะ จิตใจจดจ่อกับสิ่งที่ทำ และมีความสุขที่ได้ทำ


           ตัวอย่างการทำจิตอาสาที่ผมยกมานั้นผมคิดว่าเป็นสิ่งง่ายๆ เพียงแค่สละเวลาของตัวเองเพียงเล็กน้อยมาทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ความจริงแล้วการทำความดีนั้นไม่จำเป็นต้องมาทำออกหน้า ไม่จำเป็นต้องทำแล้วต้องให้คนอื่นรู้ถึงจะดี เพราะเมื่อเรามีใจรักในการทำความดีจริงๆไม่ว่าจะเป็นความดีที่ดูเล็กน้อยหรือความดีที่มากมายยิ่งใหญ่ ความสุขใจและความอิ่มใจก็จะมาหาตัวผู้กระทำเสมอครับ.


สถานที่:วัดปทุมวนารามวรวิหาร วันที่:31พฤษภาคม พ.ศ.2556 เวลา:11:00-12:30น.












วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

จิตอาสา (Public Mind)

        
    


                 โลกของเราพัฒนาก้าวหน้าไปเรื่อยๆ มีเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกมากมาย ซึ่งสบายกว่าสมัยก่อนมาก ทำให้ทุกคนมีโลกส่วนตัวมากขึ้น ไม่คิดที่จะสนใจคนรอบข้าง ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่ดีเลยโดยเฉพาะถ้าสิ่งนี้เกิดกับคนไทย คนที่ชาวต่างชาติ"เคย"ชมว่าเป็นประเทศที่คนมีน้ำใจ เป็นสยามเมืองยิ้ม นิสัยเหล่านี้เคยถูกฝังรากลึกลงในจิตใจของคนไทยทุกคน แต่ในปัจจุบันก็พูดได้ไม่เต็มปากนักว่าเป็นประเทศที่คนมีน้ำใจ ผมคงไม่ต้องบอกมากว่าทำไม แต่ผมอยากให้คุณมองจากสภาพสังคมไทยในตอนนี้คุณก็น่าจะรู้คำตอบดี....
          ถึงเวลาที่เราจะมาเปลี่ยนสังคมไทยให้เป็นสงคมเผื่อแผ่ เพื่อให้สามารถพูดได้เต็มปากว่าสังคมไทยเป็นสังคมมีน้ำใจ...แล้วจะต้องเปลี่ยนที่ไหนล่ะ???...ไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงที่ไหนเลย เริ่มที่ตัวเราดีที่สุด
         ก่อนอื่นเราต้องทำความรู้จักกับสิ่งๆหนึ่งที่จะทำให้เราเป็นคนที่มีประโยชน์ต่อสังคมก่อน สิ่งนั้นคือ"จิตอาสา"นั่นเอง
       

           จิตอาสา คือ ผู้ที่มีจิตใจเป็นผู้ให้ เช่น ให้สิ่งของ ให้เงิน ให้ความช่วยเหลือด้วยกำลังแรงกาย แรงสมอง ซึ่งเป็นการเสียสละสิ่งที่ตนเองมีแม้กระทั่งเวลา ให้กับส่วนรวม...อีกทั้งยังช่วยลดอัตตาหรือความเป็นตัวเป็นตนของตนเองลงได้บ้าง
       อาสาสมัคร เป็นงานที่เกิดจากผู้ที่มี จิตอาสา ซึ่งมีความหมายอย่างมาก กับสังคมส่วนรวม เป็นผู้ที่เอื้อเฟื้อ เสียสละ เวลา แรงกาย แรงใจ เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น หรือ สังคมให้เกิด ประโยชน์และความสุขมากขึ้น 
          การเป็น "อาสาสมัคร" ไม่ว่าจะเป็นงานใดๆ ก็แล้วแต่ที่ทำให้เกิดประโยชน์ในทางบวก ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เราควรทำทั้งสิ้น คนที่จะเป็นอาสาสมัครได้นั้น ไม่ได้จำกัดที่ วัย การศึกษา เพศ อาชีพ ฐานะ หรือ ข้อจำกัด ใดๆ ทั้งสิ้น หากแต่ต้องมีจิตใจ เป็น "จิตอาสา" ที่อยากจะช่วยเหลือผู้อื่น หรือสังคม เท่านั้น
         กิจกรรมอาสาสมัคร เป็นกระบวนการของการฝึก "การให้" ที่ดีเพื่อขัดเกลาละวางตัวตน และบ่มเพาะความรัก ความเมตตาผู้อื่น โดยไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้ กระบวนการของกิจกรรม ซึ่งเป็นการยอมสละตน เพื่อรับใช้และช่วยเหลือแก้ไขวิกฤติปัญหาของสังคม อาสาสมัครจะได้เรียนรู้ละเอียดอ่อนต่อสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวมากขึ้น สัมผัสความจริง เชื่อมโยงเหตุและปัจจัยความสุขและความทุกข์ เจริญสติในการปฏิบัติงาน ที่ศาสนาพุทธเรียกว่า พรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เพื่อให้เกิด "การให้" ที่ดี กิจกรรมอาสาสมัคร จึงเป็นกระบวนการที่ช่วยให้บุคคลได้ขัดเกลาตนเอง เรียนรู้ภายใน และเกิดปัญญาได้ 
         
           ที่ผ่านมาคนไทยอาจเคยชินกับการทำความดีด้วยการใช้เงินลงทุนในการทำบุญ ไม่ค่อยอยากออกแรงช่วยเหลือ เพราะถือว่า การทำบุญกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือผู้มีบุญบารมีจะทำให้คน ๆ นั้นได้บุญมากขึ้น คนไทยจึงมักทำบุญกับพระ บริจาคเงินสร้างโบสถ์ แต่ละเลยการ "ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์" 
          วิสาหกิจและบุคคลต่างสนใจทำดีเพื่อส่วนรวม แต่บางทีกลับกลายเป็นโทษ การอาสาทำดีรูปแบบไหนบ้างที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และน่าจะนำไปปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินการ CSR ด้านบำเพ็ญประโยชน์บ้าง 
          ไม่ง่ายนักที่จะทำดี ให้ได้ดีกับผู้รับจริง ๆ ทำไปแล้วก็อาจไม่ได้ผลต่อส่วนรวมสมดังความมุ่งหวัง การทำดีต่อสังคมในรูปแบบที่เป็นอยู่มักเป็นเพียงการ ลูบหน้าปะจมูกและไมได้ส่งผลดีอย่างยั่งยืนต่อผู้รับ แต่ผู้ให้ต่างหากที่มักจะได้ดี ยกตัวอย่างเช่น
             1. การสร้างบ้านหลังเล็ก ๆ ให้คนจนไม่ถึง 100 หลัง ซึ่งคงเป็นเงินหลักสิบล้านบาท แล้วเชิญอดีตประธานาธิบดีของประเทศมหาอำนาจใหญ่มาเปิดงานใหญ่โต ซึ่งอาจสิ้นเปลืองงบประมาณไปพอ ๆ กัน การนี้หากนำเงินไปสร้างบ้านให้คนไร้บ้านอยู่อาศัยแบบ     ชั่วคราวคงคุ้มค่ามากกว่า 
             2. การรณรงค์กันมาขี่จักรยานกันยกใหญ่ นัยเพื่อให้ตระหนักถึงภัยโลกร้อน แต่ก่อนฉากนี้จะเกิดขึ้น ดาราหน้ากล้องทั้งหลายและผู้ติดตาม คงขี่รถยนต์คันงามเปลืองน้ำมันกันมามากมาย 
            3. การบริจาคเพื่อถ่ายรูปกับ ผู้มีบุญเพื่อเอาไว้ขู่คนหรือประดับบารมีของคนให้ 
            4. การบริจาค ทำบุญหรือทำทานเพราะเมื่อคืนฝันร้าย! 
            5. การปลูกป่ากันครึกโครม ทั้งที่ได้ผลไม่มาก ในขณะที่ในปีหนึ่ง ๆ ป่ากลับถูกทำลายไปมากมาย 
             แม้การทำดีข้างต้นจะไม่ได้มีผลดีกับผู้รับมากนัก แต่ก็มีคนทำต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะถือเป็นกิจกรรมสร้างเครือข่าย-ต่อยอดธุรกิจ หรือ ตกเบ็ดหรือมีโอกาสได้รับคำนำหน้านามเหนือสามัญชนทั่วไป นอกจากนี้ยังอาจเป็นการทำเพื่อปกปิดความผิดหรือมีประโยชน์แอบแฝง เป็นต้น 
             นอกเหนือจากการอาสาทำดีในรูปแบบกิจกรรมแบบน่ารัก ๆ ด้วยการปลูกป่า ขี่จักรยานลดโลกร้อน ช่วยเหลือเด็ก ช่วยเรื่องการศึกษา ฯลฯ โดยไม่ไปขวางทางโจรหรือทางโกงแล้ว ยังมีกิจกรรมทำดีในรูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งอาจถือเป็นการเติมเต็มการทำประโยชน์ต่อสังคมที่ผู้สนใจ CSR ในด้านการอาสาทำดี สามารถนำไปใช้ได้เช่น จับขอทาน ตรวจพระปลอม รายงานการบุกรุกทำลายป่าเป็นต้น
             ด้วยเหตุนี้ "จิตอาสา"จึงเป็นการใช้แรงงานและแรงกายทำเพื่อส่วนรวม คือ เป็นการทำประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยไม่ใช้ "เงิน" แต่ใช้แรงกายเข้าแลกด้วยความสมัครใจ เป็นจิตที่คิดถึงผู้อื่น ทำด้วยใจเป็นสุข และตนเองก็เป็นสุขด้วย ไม่ใช่ทำเพื่อผู้อื่นแล้วตนเองกลับเครียด วิตกจริต หรือริษยาผู้อื่น 
      " จิตสาธารณะหรือจิตอาสา เป็นทุนสังคมใหม่ล่าสุด ของประเทศไทยและของโลก" 






ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.songthang.com/news-articles/articles/238-qq-